Monthly Archives: มกราคม 2012

กล้วยหอมทองปลอดสารพิษเพื่อการส่งออก

กล้วยหอมทองปลอดสารพิษเพื่อการส่งออก

 

 


 

ปัญหาและพิษภัยของสารเคมีป้องกันการกำจัดศัตรูพืช จัดเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายต่อมนุษย์สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพราะอันตรายที่เกิดจากสารพิษที่ใช้ในการเกษตร มิได้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้สารเคมี ซึ่งต้องสัมผัสสารพิษโดยตรง

 

ผู้ประกาศชัยชนะเหนือสารเคมี

ลุงบรรจง ลิ้มทรงธรรม เกษตรกรตัวอย่างเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบอาชีพปลูกกล้วยหอมทองส่งออกต่างประเทศโดยปราศจากสารพิษ จำนวน 5 ไร่ และพืชอื่น ๆ อาทิ มะนาว มะขามหวาน มะม่วง เป็นต้น ในท้องที่ ต.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้รวบรวมกลุ่มสมาชิกผลิตกล้วยหอมทองส่งออกสู่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำการเกษตรโดยหันมาใช้ระบบกลไกธรรมชาติเป็นวิธีการผลิต เลิกใช้สารเคมีที่มีพิษร้ายแรง นอกจากจะทำให้เป็นที่ยอมรับของตลาดผู้บริโภคในต่างประเทศแล้ว กลุ่มนี้ยังจัดทำแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจของเกษตรกรต่อไปในอนาคต

สู่ก้าวที่ปลอดภัย

คุณลุงบรรจงบอกว่า กล้วยหอมทองเป็นพืชที่ต้องการดินที่อุดมสมบูรณ์เหมือนกับพืชอื่น ๆ ต้องการธาตุอาหารปริมาณมาก เพื่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องปรับสภาพดินให้สมบูรณ์โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก ซึ่งมีองค์ประกอบของสารอินทรีย์ตามธรรมชาติ เมื่อใส่ในปริมาณที่เหมาะสม จะสามารถอนุรักษ์ดินไว้ได้นานแล้วพื้นที่ทำกินของเกษตรกรก็จะมีความสมบูรณ์ตกทอดสู่บุตรหลานเกษตรกร

ในการผลิตกล้วยหอมทอง จำนวน 400 ต้น/ไร่ เกษตรกรจะมีต้นทุนการผลิตประมาณ 9,800 บาท ประกอบด้วยค่าเตรียมดิน 700 บาท ค่าหน่อพันธุ์ 1,400 บาท ค่าจ้างแรงงาน 4,000 บาท ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 1,000 บาท ค่าวัสดุ 2,200 บาท ค่าอื่น ๆ 500 บาท ซึ่งจะได้ผลผลิตประมาณ 400 เครือ ๆ ละ 8 กิโลกรัม ราคาประกันกิโลกรัมละ 10 บาท ดังนั้น จะมีรายได้ประมาณ 32,000 บาท/ไร่ ซึ่งในการปลูกแต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 10-12 เดือน

แม้ว่าการปลูกกล้วยหอมทองจะรายได้น้อยกว่าการทำเกษตรอื่น ๆ แต่มีตลาดที่มั่นคง ซึ่งตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ได้จัดทำโครงการขายกล้วยหอมทองปลอดสารพิษให้กับ สหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้แห่งประเทศญี่ปุ่น นับว่าโครงการนี้ได้เสริมสร้างมิตรภาพระหว่างองค์การสหกรณ์ของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี และร่วมกันหาช่องทางในเรื่องการขยายตลาดให้กับสมาชิก ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตมีความมั่นใจได้ว่า เมื่อผลิตแล้วจะมีตลาดรองรับที่แน่นอน และพร้อมที่จะขยายพื้นที่การผลิตให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป

เพื่อคุณภาพในการส่งออก

จากประสบการณ์ของลุงบรรจง ได้ให้ข้อคิดในการผลิตกล้วยหอมทองที่เกษตรกรต้องคำนึงถึง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานคือ ความสมบูรณ์ของต้นพันธุ์ การเตรียมดินด้วยการใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ การให้น้ำและการป้องกันศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี

การดูแลรักษา จะทำการห่อเครือกล้วยด้วยพลาสติกบาง เปิดด้านล่างพลาสติกในระยะกล้วยอายุ 25-30 วันหลังตกปลี

การเก็บเกี่ยว จะต้องทำการเก็บเกี่ยวกล้วยที่มีอายุอ่อนกว่าเก็บขายในตลาด 7-10 วัน เพื่อให้ความหวานของกล้วยไม่มากไป ตรงกับรสนิยมของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น และสะดวกเหมาะสมกับระยะเวลาของการขนส่งสู่ต่างประเทศ

ภายหลังการเก็บเกี่ยว ทำการแบ่งเครือกล้วยออกเป็นหวี ปล่อยให้ยางไหลออกให้แห้ง แล้วทำความสะอาดเฉพาะบริเวณปลายผลด้วยผ้าชุบน้ำที่สะอาด

การบรรจุหีบห่อ บรรจุกล้วยลงในกล่องกระดาษลูกฟูกแข็ง ขนาด 32 x 50 x 22 เซนติเมตร กล่องละ 12 กิโลกรัม ทำการจัดเรียงอย่าให้ช้ำ โดยมีแผ่นกั้นระหว่างหวี ทำการระบายความร้อนของกล้วยด้วยลมเย็นจนกระทั่งอุณหภูมิลดลงเหลือ 15 องศาเซลเซียส จึงปิดฝากล่องแล้วจัดเรียงในตู้เก็บรักษาที่มีการวางก้อนสารละลายอิ่มตัวโปแตสเซียมเปอร์มังกาเนตไว้ทั่วบริเวณตู้ อุณหภูมิในการเก็บรักษาจะอยู่ที่ 15 องศาเซลเซียส

การแก้ไขปัญหาเรื่องโรคและแมลง

ด้วงเจาะเหง้ากล้วยมักจะพบเห็นด้วงชนิดนี้มากในเหง้ากล้วยในพื้นที่ที่ทำการผลิตซ้ำเป็นเวลา 3 ปีขึ้นไป ซึ่งในระยะเป็นตัวหนอนจะเจาะกัดกินชอนไชอยู่ในเหง้ากล้วย ทำให้การส่งน้ำและอาหารจากพื้นดินสู่ลำต้นหยุดชะงัก ผลผลิตจะตกต่ำในที่สุด

การกำจัดและป้องกัน เกษตรกรผู้ปลูกไม่สามารถใช้สารเคมีกำจัดแมลงชนิดนี้ได้ เพราะจะทำให้สารพิษตกค้างถึงผู้บริโภค อันจะส่งผลกระทบในการส่งออก จึงจำเป็นต้องแก้ไขโดยการพักแปลงปลูกกล้วยหอมทอง แล้วปลูกพืชอื่นทดแทน 2-3 ปี จะทำให้ลดปริมาณการระบาดของแมลงลงได้ การดูแลจึงต้องเพิ่มความเอาใจใส่ในเรื่องของความสะอาดของแปลงอยู่เสมอ เมื่อพบเห็นต้นกล้วยที่ตายต้องรีบนำไปเผาทำลายทันที

โรคใบจุด อาการของโรคมักจะพบเป็นแผล มีลักษณะสีน้ำตาลขนานไปกับเส้นใบ ที่เห็นได้ชัดด้านบนของใบ ต่อมาทำให้เกิดใบจุดและแผลจะลามติดกันทำให้เกิดใบไหม้ กล้วยที่เป็นโรคนี้มาก ๆ จะทำให้ผลมีขนาดเล็กลงและผลิตผลจะต่ำในที่สุด การป้องกันและกำจัดใช้วิธีเดียวกันกับการแก้ปัญหาเรื่องด้วงเจาะเหง้ากล้วย

จากการป้องกันและกำจัดแมลงที่เกิดขึ้นกับกล้วยหอมทอง โดยปราศจากการใช้สารเคมีที่มีพิษจึงนับว่าลุงบรรจง ลิ้มทรงธรรม เป็นผู้กระทำคุณประโยชน์แก่สังคม สมควรเป็นเกษตรกรตัวอย่างด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณบรรจงเองเคยได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพปลูกป่า 2 ปีซ้อน (2540-41) แม้ว่า กว่าจะถึงวันนี้ จะต้องผ่านพบกับความลำบาก เหนื่อยยากแสนสาหัส แต่ด้วยความมานะ พยายามและอดทนอย่างสูง และถือคติพจน์ที่ว่า “ขยัน ซื่อสัตย์ พัฒนาตนเอง หลีกเลี่ยงอบายมุข” ลุงบรรจง ซึ่งในปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่….ตำบล…อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการสหกรณ์ท่ายาง จำกัด

ที่มา  http://www.news.cedis.or.th/detail.php?id=42&lang=en&group_id=1

กล้วยหอมปลอดสารพิษเจาะตลาดญี่ปุ่น

กล้วยหอมปลอดสารพิษเจาะตลาดญี่ปุ่น

 

กล้วยหอมทอง เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการส่งออก โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัท แพนแปซิฟิคฟู้ด คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นำเข้ากล้วยหอมทองของประเทศไทย และให้สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด เป็นผู้ดำเนินการด้านการผลิตและส่งออก โดยส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก เมื่อ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ จำนวน ๖ ตัน/สัปดาห์

ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภคชุโตเคน ประเทศญี่ปุ่น หรือชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภคในปัจจุบันเดินทางมาเจรจาและได้ตกลงรับซื้อกล้วยหอมทองจาก สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด โดยตรง มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยส่งเฉลี่ยสัปดาห์ละ ๘ ตัน

ล่าสุด นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงปริมาณการส่งออกกล้วยหอมทองของไทยไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘-๒๕๕๐ รวมมูลค่าการส่งออกกล้วยหอมของสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด ๑,๐๙๘.๘๙ ตัน มูลค่า ๑๕.๑๕ ล้านบาท สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ปริมาณ ๑,๔๐๑.๘๓ ตัน มูลค่า ๓๕.๐๔ ล้านบาท รวมสหกรณ์ทั้งสองแห่งมีมูลค่าส่งออกสูงถึง ๒,๕๐๐.๗๒ ตัน มูลค่าสูงถึง ๕๐.๑๙ ล้านบาท ในส่วนของราคากล้วยหอมทองในการส่งออก จะขึ้นอยู่กับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา ณ ที่ทำการสหกรณ์ โดยสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จะส่งกล้วยหอมทองให้กับบริษัท แพนแปซิฟิคฟู้ด คอร์ปอเรชั่น จำกัด ๑๕ บาท/กก. และสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ส่งให้สหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้ ประเทศญี่ปุ่น ๒๕ บาท/กก.

ส่วนราคากล้วยหอมทองที่สหกรณ์รับซื้อจากสมาชิกราคา ณ สวนของสมาชิกสหกรณ์ โดยสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด รับซื้อ ๑๐.๕๐บาท/กก. สหกรณ์การเกษตรท่ายาง รับซื้อจากสมาชิก ๑๒ บาท/กก. ซึ่งนับได้ว่าคุณภาพกล้วยหอมทองที่สหกรณ์รับซื้อจากสมาชิก จำนวน ๑๐๐ กก. สามารถคัดแยกออกเป็นกล้วยหอมในเกรดส่งออกร้อยละ ๗๐-๗๕ ส่วนกล้วยหอมทองที่ตกเกรดหรือไม่ได้มาตรฐานการส่งออก ร้อยละ ๒๕-๓๐ ทางสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จะขายให้กับพ่อค้าในจังหวัดราชบุรีในราคาประมาณ ๓-๔ บาท/กก. สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด จะขายให้กับโรงงานแปรรูป และดรงแรมในกรุงเทพฯ ตลอดถึงห้างค้าปลีก ประมาณ ๖-๗ บาท/กก.

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เนื่องจากขณะนี้การดำเนินงาน ในการส่งออกกล้วยหอมทองประสบความสำเร็จ ดังนั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้เร่งดำเนินการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อมและศักยภาพให้มีการพัฒนาด้านการผลิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อก้าวสู่เวทีโลกทั้งด้านวิชาการ การผลิต การแปรรูป การตลาด และเงินทุน โดยใชประสบการณ์ของสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จแล้วมาเป็นแม่แบบ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาขบวนการสหกรณ์ต่าง ๆ อันจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและแรงงานของประเทศในอนาคต

ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกคือ ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีลมแรง ถ้ามีลมแรงความเร็วประมาณ ๔๐-๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะทำให้เกิดความเสียหายบริเวณโคนต้นกล้วยได้ ถ้าความเร็วลมตั้งแต่ ๙๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้ต้นกล้วยหักล้มลงทันที ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้ในกรณีฝนทิ้งช่วง หรือกรณีฝนตกมากเกินไป ต้องมีทางระบายน้ำได้ด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตไม่ควรต่ำกว่า ๑๕ องศาเซลเซียส และไม่ควรสูงกว่า ๓๕ องศาเซลเซียส ใช้พันธุ์พื้นเมืองในการเพาะปลูก ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่สูง มีรสชาติอร่อยหอมหวาน และผลโต

โดยสมาชิกได้ใช้หน่อในการขยายพันธุ์ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนพันธุ์ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน หรือซื้อขายหน่อพันธุ์ในอัตราหน่อละ ๓-๔ บาท ปลูกแบบไถเป็นร่อง โดยการใช้รถไถหรือแรงงานคน ทำเป็นร่องกว้างประมาณ ๕๐-๑๐๐ ซม. มีความลึกประมาณ ๓๐-๕๐ ซม. ระยะห่างระหว่างท้องร่องของแต่ละแถว ๒ เมตร การปลูกจะนำหน่อกล้วยปลูกในท้องร่อง ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว ๒x๒ เมตร

ที่มา http://www.thaikasetsart.com

การจำหน่ายภายในประเทศ

การจำหน่ายภายในประเทศ

     กล้วยหอม ผลไม้เมืองร้อนของมวลมนุษยชาติ เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากรับประทานได้ทุกเพศทุกวัยราคาก็ไม่แพง ประเทศไทยโชคดีที่สามารถปลูกกล้วยหอมได้ทั่วทุกภาค แต่ปัจจุบันแหล่งปลูกกล้วยหอมคุณภาพแหล่งใหญ่อยู่ที่ จ.ปทุมธานี เขตทุ่งรังสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม ดินดำ น้ำดี อีกทั้งอยู่ในทำเลทองไม่ไกลจากตลาดกลางค้าส่ง ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมืองมากนัก
     ปัจจุบันตลาดไท เป็นตลาดกลางค้าส่งกล้วยหอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีปริมาณการค้ากล้วยหอมเฉลี่ยวันละกว่า 100 ตัน โดยมีผู้ค้าส่งหลายรายเป็นผู้รวบรวมและกระจายผลผลิตจำหน่ายไปทั่วประเทศ เคหการเกษตรจะพาไปคุยกับผู้ค้ากล้วยหอมรายใหญ่แห่งตลาดไทดูว่ากล้วยหอมไทยมีโอกาสสดใสจริงหรือ


                      คุณเกรียงศักดิ์ วิเลปะนะ และ คุณเสาวนีย์ วิเลปะนะ ร้านเกรียงศักดิ์กล้วยหอม  

    คุณเกรียงศักดิ์ วิเลปะนะ และ คุณเสาวนีย์ วิเลปะนะ ร้านเกรียงศักดิ์กล้วยหอม ผู้ค้ากล้วยหอมรายใหญ่ ตลาดไท กล่าวว่า พื้นที่ปลูกกล้วยหอมแหล่งใหญ่ปัจจุบันอยู่ในเขตรังสิต จ.ปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งได้เปรียบในเรื่องการขนส่งเพราะอยู่ใกล้กับตลาดรับซื้อ เฉพาะพื้นที่ปลูกกล้วยของตนและสมาชิกชาวสวนที่รับซื้อผลผลิตมีประมาณ 2,000 ไร่ ลักษณะการปลูกกล้วยหอมจะหมุนเวียนพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ การปลูกซ้ำพื้นที่เดิมจะไม่ได้ผลดีทำให้ผลเล็ก เครือสั้น  ปัญหาของการปลูกกล้วยหอมคือภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องลมทำให้ต้นล้มและใบฉีกขาด
   ตลาดกล้วยหอมในช่วง 3-4 ปีมานี้ นับว่าขยายตัวมากขึ้น ปริมาณการจำหน่ายมากขึ้น  เฉพาะที่ร้านปริมาณการจำหน่าย 6-8 คันรถปิ๊กอัพต่อวัน (คันละ 100 เครือ) หรือประมาณ 20 ตันต่อวัน  ซึ่งขณะนี้ในตลาดไทมีผู้ค้ากล้วยหอมอยู่ประมาณ 20 กว่าร้าน หากรวมปริมาณการค้ากล้วยหอมทั้งหมดก็น่าจะประมาณ 100 กว่าตัน สำหรับที่ร้านเน้นจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าตลาดบนและห้างต่างๆ และในอนาคตมองตลาดส่งออกด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงแพ็คกิ้งเฮาท์ที่ได้มาตรฐานเพื่อรองรับกับการทำตลาดกล้วยหอมคุณภาพจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกในอนาคต  อย่างไรก็ตามขณะนี้ตลาดกล้วยหอมยังเป็นโอกาสสำหรับชาวสวน แต่ขอย้ำว่า ตลาดต้องการกล้วยหอมคุณภาพ ต้องคุณภาพเท่านั้นถึงจะขายได้ราคาดี 


                                               คุณวิสูตร วงษ์อาชาภิวัฒน์ และ คุณมาลี ภาณุมาศ ร้านป้าหลิง

    ด้าน คุณวิสูตร วงษ์อาชาภิวัฒน์ และ คุณมาลี ภาณุมาศ  ร้านป้าหลิง ผู้ค้ากล้วยหอมรายใหญ่ตลาดไท กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดกล้วยหอมในประเทศขยายตัวมาก  ปริมาณความต้องการมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่ผลิตกล้วยหอมคุณภาพเริ่มลดลง เนื่องจากขณะนี้ในเขตรังสิตมีพืชทางเลือกมากขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ทำให้ชาวสวนต้องไปหาพื้นที่ปลูกไกลออกไป เช่น  ลพบุรีและกำแพงเพชร เป็นต้น  เฉพาะพื้นที่ปลูกกล้วยหอมที่เป็นเครือข่ายของร้านป้าหลิงมีประมาณ 2,000 ไร่ มีผลผลิตออกจำหน่ายทุกวันๆ ละ 20-30 ตัน หากรวมกับผู้ค้ารายอื่นๆ น่าจะราวๆ 80-100 ตันต่อวัน ซึ่งเรียกได้ว่ากล้วยหอมที่บริโภคภายในประเทศมากกว่า 50% ของการผลิตมาจากตลาดไท


   

     สำหรับสถานการณ์การตลาดของกล้วยหอมในช่วง 3-4 ปีมานี้ ราคากล้วยหอมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ราคาเฉลี่ยตัดที่สวนเครือละ 140-150 บาท เพราะตลาดขยายได้มากขึ้น มีการนำกล้วยหอมไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ มากขึ้น ที่ร้านส่งกล้วยหอมให้กับโรงงานแปรรูปทำขนม ทอด อบแห้ง เคลือบช็อคโกแลตฯลฯ เดือนละ 4-5 ตัน 
    สำหรับชาวสวนที่สนใจปลูกกล้วยหอม ให้ศึกษาข้อมูลให้ดี หัวใจสำคัญในการปลูกกล้วยหอมคือ เรื่องเงินทุนต้องพร้อม ปัจจุบันการลงทุนปลูกกล้วยหอมประมาณ  6,000-10,000 บาทต่อไร่ ขึ้นอยู่กับการจัดการ ซึ่งชาวสวนจะต้องผลิตให้ได้คุณภาพและต้องห่อเครือด้วยถุงพลาสติกเพื่อให้ผิวสวย นอกจากนี้การผลิตกล้วยให้ออกตรงกับที่ตลาดต้องการก็จะได้ราคาดี ซึ่งในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. กล้วยมักจะขาดตลาดเพราะชาวสวนประสบปัญหาเรื่องลมแรง ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงที่จะผลิตกล้วยในช่วงนี้ ราคาค่อนข้างสูง และผลผลิตจะออกมามากในช่วงเดือน พ.ย.-มี.ค.
     อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตลาดในประเทศยังมีความต้องการกล้วยหอมอีกมาก แต่ตลาดต่างประเทศก็ยังเป็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความต้องการกล้วยหอมมากในช่วงฤดูหนาวเดือน พ.ย. เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ ในขณะที่บ้านเราสามารถปลูกกล้วยหอมได้ตลอดทั้งปี เป็นกล้วยหอมที่มีคุณภาพ รสชาติดี แต่ที่ยังเป็นปัญหาคือเรื่องการขนส่ง ซึ่งพันธุ์กล้วยหอมที่ปลูกในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นกล้วยหอมพันธุ์ไต้หวัน เปลือกบางไม่ทนทานการขนส่ง หากสามารถยืดอายุการเก็บรักษาในการขนส่งทางเรือหรือทางรถยนต์ได้นับว่าจะเป็นโอกาสอีกมากสำหรับกล้วยหอมไทย  

 

ราคาเฉลี่ยกล้วยหอมสุก (เบอร์ใหญ่) ตลาดไท ปี 2552-2554 (เดือน ก.ค.)


ที่มา http://www.kehakaset.com/

เค้กกล้วยหอม

รวมสูตรเค้กกล้วยหอม

Image Hosted by ImageShack.us

กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่ซื้อติดบ้านตลอด
แต่นาน ๆ ทีจะได้ทำเค้กกล้ัวยหอมซักที
เพราะกล้วยหอมงอมไม่ทัน โดนหม่ำหมดซะก่อน
วันนี้ลองรวบรวมสูตรเค้กกล้วยหอมมาไว้ตรงนี้
แต่ละสูตรเป็นสูตรที่มีหลาย ๆ คนชอบค่ะ

สูตรแรกเป็นสูตรของพี่ก้อย
สูตรนี้ใช้เนย ไม่ใส่นม
พี่ก้อยบอกว่าพยายามใส่กล้วยเยอะที่สุด
ทำให้เค้กออกมาหอม ๆ ฉ่ำ ๆ

เค้กกล้วยหอมสูตรพี่ก้อย

สูตรต่อไปเป็นสูตรของคุณ Beebie
เป็นสูตรใช้น้ำมัน และไม่ใส่นมเช่นกัน
เนื้อเค้กจะดูฟู ๆ เบา ๆ กว่าสูตรแรกค่ะ

เค้กกล้วยหอมสูตรคุณ Beebie

สูตรที่สามเป็นสูตรที่น้องแพร (choco) นำ้เสนอ
บอกว่านำสูตรมาจากคุณอ๋อ
เป็นสูตรเนย ใส่นมเปรี้ยวด้วย
ออกมาหน้าตาน่าหม่ำไม่แพ้สูตรอื่น ๆ

เค้กกล้วยหอมสูตรคุณอ๋อ โดยน้องแพร


สูตรสุดท้าย เป็นสูตรจาก all recipes
(รูปที่ถ่าย ใช้สูตรนี้)
สูตรนี้ใช้เนยและบัตเตอร์มิลค์ (นมบีบมะนาวแทนก็ได้)
ออกมาก็หอมอร่อยไม่เบา

สูตรมีดังนี้ค่ะ

แป้งเอนกประสงค์ 2 1/2 ถ้วย
ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือ 1/4 ช้อนชา
เนยจืด 1/2 ถ้วย
น้ำตาลทรายขาว 1 ถ้วย
น้ำตาลทรายแดง 3/4 ถ้วย
ไข่ 2 ฟอง
กล้วยสุกงอมบด 4 ลูก
วานิลลา 1 ช้อนชา
บัตเตอร์มิลค์ 2/3 ถ้วย หรือนมสด บีบมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
ถั่ววอลนัทอบแล้ว 1/2 ถ้วย (ถ้าชอบ)

วิธีทำ

เปิดเตาอบไว้ที่ 350 F (175 C)
เตรียมพิมพ์กลมขนาด 8 นิ้ว สองพิมพ์
หรือพิมพ์โลฟขนาด 8 นิ้ว สองพิมพ์
ทาไขมัน โรยด้วยแป้งและเคาะออก พัำกไว้

1. ร่อนแป้ง ผงฟู และเกลือ พักไว้
2. ใช้หัวตีใบไม้ตีเนย ใส่น้ำตาลสองแบบ ให้ฟูเบา
3. ค่อย ๆ ใส่ไข่ทีละฟอง ตีให้เข้ากัน
4. ใส่กล้วยบดและวานิลลา
5. ใส่แป้ง (โดยแบ่งแป้งด้วยสายตาเป็นสามส่วน)ผสมให้เข้ากััน
สลับกับใส่บัตเตอร์ิมิล์ค (กะให้เทได้สองครั้ง)คนตะล่อมให้เข้ากัน
เป็นการเริ่มด้วยแป้ง นม แป้ง นม และจบด้วยแป้ง
6. ถ้าชอบถั่ว ก็ใส่ถั่วได้ตอนนี้นะคะ
7. นำส่วนผสมใส่พิมพ์ อบนานประมาณ 30 นาที
หรือจนเค้กสุกดี เอาไม้จิ้มฟันจิ้มแล้วออกมาสะอาด

ที่มา http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=sweetheart-bakery&month=21-02-2007&group=2&gblog=9

เครื่องดื่มเสริมสุขภาพกล้วยหอม

เครื่องดื่มเสริมสุขภาพกล้วยหอม  

“ กล้วย ” เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ด้วยคุณสมบัติเด่นที่ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย อุดมด้วยน้ำตาลธรรมชาติ ได้แก่ ซูโครส ฟรุกโตส และกลูโกส รวมทั้งเส้นใยและกากอาหาร

     ผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศระบุว่า กล้วยยังประกอบด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โปตัสเซี่ยม แคลเซี่ยม ธาตุเหล็ก วิตามินบี วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคโลหิตจาง โรคท้องผูก อาการเสียดท้อง โรคลำไส้เป็นแผล โรคหูด แก้เม็ดผดผื่น รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ และแก้อาการเมาค้าง เป็นต้น

     แม้ว่ากล้วยนานาชนิดจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภค แต่ปริมาณการปลูกที่มีมากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ส่งผลให้เกิดภาวะล้นตลาดของผลผลิต จึงเป็นที่มาของการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด

     สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร ให้ความสำคัญในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ จึงได้ดำเนิน โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกล้วย โดยได้คัดเลือก กล้วยหอม เป็นวัตถุดิบในการนำมาแปรรูป เนื่องจากมีปริมาณเนื้อสูงและมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์

     จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ฝ่ายเทคโนโลยีอาหารประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา เครื่องดื่มเสริมสุขภาพกล้วยหอม ที่คงคุณค่าทางโภชนาการของกล้วยอย่างครบถ้วน ผลิตภัณฑ์มีสีตามธรรมชาติ ความเข้มข้นพอเหมาะ น่ารับประทาน มีกลิ่นหอมธรรมชาติของกล้วยหอม รสชาติกลมกล่อม ไม่มีการเติมสีสังเคราะห์และวัตถุกันเสีย จึงเหมาะสำหรับเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

     วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต เครื่องดื่มเสริมสุขภาพกล้วยหอม ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ทั้งการจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ

ที่มา   http://www.tistr-foodprocess.net/food_tech/food_tech2/food_tech2_2.htm

โรคที่สำคัญ

โรคที่สำคัญ


โรคตายพราย (Panama disease)
เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum f. cubense
อาการ:
มักเป็นกับกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป ลักษณะอาการของกล้วยที่เพิ่งจะเป็นโรคนี้ สังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากเชื้อของโรคจะทำลายลำต้นด้านรากก่อน และเจริญอย่างรวดเร็วไปตามท่อน้ำของลำต้น อาการในช่วงนี้จะสังเกตเห็นเป็นทางสีเหลืองอ่อนตามก้านใบของใบล่างหรือใบแก่ ปลายหรือขอบใบจะเริ่มเหลืองและขยายไปอย่างรวดเร็วจะเหลืองหมดทั้งใบ ใบอ่อนจะมีสีเหลืองไหม้หรือตายนึ่ง และบิดเป็นคลื่นในที่สุดจะหักพับตรงบริเวณโคนก้านใบ ส่วนใบยอดอาจจะเหลืองตั้งตรงเขียวอยู่ในระยะแรก แต่ในที่สุดก็จะแห้งตายไปเช่นกัน
อาการที่บริเวณลำต้น โดยเฉพาะตรงส่วนโคนต้นหรือเหล้าของกล้วย เมื่อผ่าดูภายในจะพบแผลเน่าเป็นจุดสีเหลืองอ่อนจนถึงน้ำตาลแก่หรือแดงส้ม และมีกลิ่นเหม็น ส่วนบริเวณลำต้นที่เรียกว่า กาบกล้วย เมื่อนำมาตัดขวางจะพบเป็นรอยช้ำ เน่า สีน้ำตาลเข้มหรือดำ อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ลามเข้าไปข้างในต้นกล้วยจะยืนต้นแห้งตาย หากเป็นกล้วยที่ให้ผลแล้ว เครือจะเหี่ยวผลลีบเล็กไม่สม่ำเสมอ และแก่ก่อนกำหนด เนื้อจะจืดซีดและเปลี่ยนเป็นสีดำ
การป้องกันกำจัด:
– คัดเลือกหน่อพันธุ์กล้วยจากบริเวณที่ไม่เป็นโรคไปปลูก
– มีการปรับสภาพของดินที่เป็นกรดโดยการใส่ปูนขาว อัตราที่ใช้ประมาณไร่ละ 4-5 ตัน
– หมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกและเครื่องมือเครื่องใช้อยู่เสมอ เนื่องจากเชื้อชนิดนี้สามารถแพร่ กระจายได้ง่าย
– ทำลายต้นกล้วยที่เป็นโรค โดยการสุมไฟเผาหรือขุดหลุมฝังให้ลึกอย่างน้อย 3-4 ฟุต
– หลักเลี่ยงการปลูกในหลุมเดิมที่เคยปลูกมาแล้ว
– ควรลดธาตุไนโตรเจนให้น้อยลง การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากจะทำให้พืชอ่อนแอเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย
– ทำความสะอาดโคนกอกล้วยอย่าให้เกิดรกรุงรัง และทำทางระบายน้ำให้ดี และราดโคนต้นให้ชุ่มด้วย สารเคมี เช่น แคปแทน 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

โรคใบจุด
เกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น Cecospora musae, Phyllosticma musarum, Guignardia musae ฯลฯ
ลักษณะอาการ:
เมื่อเริ่มเป็นจะเป็นจุดขนาดเล็ก สีเหลือง สีแดง ดำ หรือน้ำตาลขึ้นอยู่กับเชื้อสาเหตุ แล้วจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้กล้วยชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง ผลสุกก่อนกำหนด รสชาติหรือคุณภาพเสียไป
การป้องกันกำจัด:
ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เบนโนมิล อัตรา 8 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแคปแทน อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์เบนดาซิม อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น
ตัดใบที่เป็นโรคมากออกมาเผาทำลาย

โรคใบเหี่ยว (Bacterial wilt)
เกิดจากเชื้อบักเตรี Pseudomonas solanacearum จะอยู่ทั้งในดินบริเวณโคนต้นและในส่วนของกล้วยเป็นโรค จะแพร่กระจายไปกับน้ำและติดไปกับหน่อพันธุ์


ลักษณะอาการ:
ใบกล้วยจะเป็นสีเหลือง เหี่ยวเฉา และอาจห้อยลงมา แต่เมื่อพบเห็นอาการนี้โรคจะอยู่ในระยะรุนแรงมากแล้ว โดยทั่วไปเมื่อโรคเริ่มเป็น จะพบว่าเนื้อเยื่อของกาบลำต้น เหง้า (ลำต้นแท้) ก้านใบ ก้านเครือ มีท่อน้ำท่ออาการถูกทำลาย เป็นสีน้ำตาล เมื่อผ่าออกจะมีของเหลวเหนียวเป็นยางไหลออกมา โรคนี้จะทำให้ต้นกล้วยค่อย ๆ ตายไป ถ้าเป็นในระยะออกเครือจะทำให้ผลอ่อนสุกก่อนกำหนด ขนาดเล็กเท่านิ้วมือปะปนกับผลอ่อนที่ยังเขียวอยู่ เมื่อเป็นในระยะต้นอ่อน ใบจะเป็นสีเหลืองมีขอบใบแห้งอยู่โดยรอบ แคระแกรน ไม่เจริญเติบโต
การป้องกันกำจัด:
ทำความสะอวดเครื่องมือเกษตร เช่น มีด จอบ เสียม ต้องระมัดระวังอย่าใช้มีดที่ตัดแต่งจากกล้วยกอหนึ่งไปยังอีกกอหนึ่ง เพราะจะเพิ่มการระบาดของโรค กล้วยที่เป็นโรคต้องขุดทิ้ง นำไปเผาไฟ แล้วราดหลุมด้วยฟอร์มาลิน 5 เปอร์เซ็นต์
แช่หน่อพันธุ์ปลูกด้วยฟอร์มาลิน 5 เปอร์เซ็นต์

การดูแลรักษา

การดูแลรักษา


การให้น้ำ:
ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูปลูก เมื่อหน้าดินแห้งต้องให้น้ำ (โดยเก็บตัวอย่างดินจากผิวดินลึก15 เซนติเมตร กำเป็นก้อน ถ้าแบมือแล้วแตกร่วงควรให้น้ำเพิ่มแก่ต้นกล้วย)

การให้ปุ๋ย:
– ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อกล้วยหอมอายุ 1 และ 3 เดือน ด้วยสูตร 20-10-10 หรือ 15-15-15 หรือสูตร ใกล้เคียงอัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้ง
– ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 และ 4 เมื่ออายุ 5 และ 7 เดือน ด้วยสูตร 13-13-21 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้ง
– ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก) ปีละ 1-2 ครั้ง


การแต่งหน่อ:
หลังจากปลูกกล้วยประมาณ 5 เดือน ให้แต่งหน่อ เพื่อให้ต้นแม่มีความสมบูรณ์

การค้ำยันต้น:
ต้องใช้ไม้ค้ำยันหรือดามกล้วยทุกต้น ที่ออกปลีแล้ว เพื่อป้องกันลำต้นหักล้ม และตรวจดูการค้ำยันให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง

การหุ้มเครือ และตัดใบธง:
การหุ้มเครือกระทำหลังจากตัดปลีไม่เกิน 15 วัน เพื่อให้ผิวกล้วยสวย และป้องกันแมลงทำลายด้วยถุงพลาสติกสีฟ้า แบบเปิดด้านล่าง โดยหุ้มทั้งเครือ และหุ้มทุกเครือ ส่วนการตัดใบธง ตัดเมื่อใบธงเริ่มหักก่อนที่จะเสียดสีกับผิวกล้วย

ที่มา  http://it.doa.go.th/vichakan/news.php?newsid=3

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์


ต้น   ลำต้นเทียมสูง 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 20 เซนติเมตร ตามลำต้นด้านนอกมี ประดำเล็กน้อย ด้านในสีเขียวอ่อน และมีเส้นลายสีชมพู
ใบ     ก้านใบมีร่องค่อนข้างกว้าง และมีปีก เส้นกลางใบสีเขียว
ดอก   ก้านช่อดอกมีขนใบประดับรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายแหลม ด้านบนสีแดงอมม่วง มีไข ด้านในสีแดงซีด
ผล เครือหนึ่งมี 4-6 หวี หวีละ 12-16 ผล ปลายผลมีจุกเห็นชัด เปลือกบาง เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง แต่ที่ปลายจุกจะมีสีเขียว แล้วเปลี่ยนสีภายหลัง เนื้อสีเหลืองเข้ม กลิ่นหอม รสหวาน

พันธุ์
พันธุ์ที่นิยม คือ กล้วยหอมทอง (AAA Group) ให้ผลผลิตสูง รสชาติดี และผลโต

  ที่มา    http://it.doa.go.th/vichakan/news.php?newsid=3

การปลูก

การปลูก

                 

การเตรียมดิน :
ไถดะ 1 ครั้ง ตากดินแล้วไถพรวน 1-2 ครั้ง ให้ดินร่วนซุย ไม่มีวัชพืช ถ้ามีวัชพืชมากกว่าร้อยละ 20 ต้องไถพรวนใหม่
      
การเตรียมหลุมปลูก:
– ระยะปลูกระหว่างแถวและต้น 2×2 เมตร
– ขนาดหลุมปลูก กว้าง ยาว ลึก 30x30x30 เซนติเมตร
– รองก้นหลุมด้วยดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ ด้วย 5 กิโลกรัมต่อหลุม

การเตรียมพันธุ์และการปลูก:
– ใช้หน่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ ปราศจากศัตรูพืช มีความยาวหน่อ 25-35 เซนติเมตร มีใบแคบ 2-3 ใบ
– วางหน่อพันธุ์ที่ก้นหลุม จัดวางให้ด้านที่ติดต้นแม่อยู่ในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้มีการออกดอกไปในทิศทางเดียวกัน และสะดวกในการดูแลรักษา
– กลบดินและกดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น คลุมดินด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง และรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา

การให้น้ำ:
ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูปลูก เมื่อหน้าดินแห้งต้องให้น้ำ (โดยเก็บตัวอย่างดินจากผิวดินลึก15 เซนติเมตร กำเป็นก้อน ถ้าแบมือแล้วแตกร่วงควรให้น้ำเพิ่มแก่ต้นกล้วย)

การให้ปุ๋ย:
– ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อกล้วยหอมอายุ 1 และ 3 เดือน ด้วยสูตร 20-10-10 หรือ 15-15-15 หรือสูตร ใกล้เคียงอัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้ง
– ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 และ 4 เมื่ออายุ 5 และ 7 เดือน ด้วยสูตร 13-13-21 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้ง
– ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก) ปีละ 1-2 ครั้ง

การแต่งหน่อ:
หลังจากปลูกกล้วยประมาณ 5 เดือน ให้แต่งหน่อ เพื่อให้ต้นแม่มีความสมบูรณ์

การค้ำยันต้น:
ต้องใช้ไม้ค้ำยันหรือดามกล้วยทุกต้น ที่ออกปลีแล้ว เพื่อป้องกันลำต้นหักล้ม และตรวจดูการค้ำยันให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง

การหุ้มเครือ และตัดใบธง:
การหุ้มเครือกระทำหลังจากตัดปลีไม่เกิน 15 วัน เพื่อให้ผิวกล้วยสวย และป้องกันแมลงทำลายด้วยถุงพลาสติกสีฟ้า แบบเปิดด้านล่าง โดยหุ้มทั้งเครือ และหุ้มทุกเครือ ส่วนการตัดใบธง ตัดเมื่อใบธงเริ่มหักก่อนที่จะเสียดสีกับผิวกล้วย

ระยะเวลาในการให้ผลผลิตของกล้วยหอมทอง :
ประมาณ 10 เดือนหลังจากปลูก กล้วยจะเริ่มแทงปลีออกมา การที่กล้วยจะออกปลีช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของหน่อกล้วยว่ามีความ แข็งแรงสมบูรณ์ดีหรือไม่ รวมทั้งการดูแลรักษาเมื่อกล้วยแทงปลีจนสุด(กล้วยหวีตีนเต่าโผล่ – กล้วยตีนเต่าหมายถึงกล้วยหวีสุดท้ายที่มีลักษณะไม่สมบูรณ์ ) ให้ตัดปลีทิ้ง หรือจะตัดปลีหลังจากปลีโผล่มาประมาณ 10-12 วัน ถ้าไม่มีการตัดปลีกล้วยทิ้งผลกล้วยจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่

หลังจากตัดปลีประมาณ 90-110 วัน กล้วยจะแก่พอดี สามารถสังเกตได้จากกล้วย หวีสุดท้ายจะเริ่มกลม สีที่ผลจางลงกว่าเดิม(สีเขียวอ่อน) ถ้าปล่อยให้กล้วยแก่คาต้นมากเกินไปจะสบกับปํญหากเรื่องเปลือกกล้วยที่แตก ทำให้ผลผลิตเสียหาย

ในปีที่2และ3 จะเรียกกล้วยที่มีอายุเหล่านี้ว่ากล้วยตอ เมื่อถึงเวลาที่ตัดเครือกล้วยออกแล้ว เกษตรกรจะตัดต้นแม่ออก เพื่อลดความหนาแน่นและการแข่งขันในการหาอาหาร แต่การตัดต้นกล้วยนั้นควรจะตัดให้เหลือตอสูงประมาณ 1.5-2 เมตร เพื่อให้หน่อที่แตกใหม่มีอาหารที่สมบูรณ์และน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ในตอกล้วยจะ ช่วยเลี้ยงหน่อที่เหลือให้เจริญต่อไปได้ การเลี้ยงตอนั้นจะเลี้ยงไว้จนตอแห้งแล้วจึงตัดออก
    

การตัดหน่อกล้วยไว้สำหรับปีต่อไป :
หน่อกล้วยที่สมควรจะคัดไว้เป็นหน่อที่ให้ผลผลิตในปีต่อไป ควรจะคัดหน่อกล้วยที่มีลักษณะ ดังนี้
1. ควรเป็นหน่อใต้ดิน ลำต้นแวบ อยู่ห่างจากโคนต้นแม่ประมาณ 10 นิ้ว ควรเหลือไว้ประมาณ 25 หน่อ ที่อยู่ตรงกันข้าม
2. ถ้าใช้ระยะปลูก 3 x 3 เมตร ควรคัดหน่อกล้วยอีกครั้งหนึ่งจาก 2 หน่อ ให้เหลือเพียงหน่อเดียวหรือเหลือไว้ไม่เกิน 2 หน่อ ซึ่งจะทำให้แปลงกล้วยทึบ ลำต้นจะสูงชะลูดและหักล้มได้ง่าย

ปัญหาและอุปสรรคในการเพาะปลูกกล้วยหอมทอง :
1.กล้วยหอมทองมีลำต้นสูง เครือใหญ่ จึงมีปัญหาในการหักล้มก่อนกล้วยจะแก่ได้ง่าย
2. ต้องสิ้นเปลืองค่าไม้ค้ำ
3. ถ้าปลูกมากเกินไปในท้องถิ่นหนึ่งกล้วยจะล้นตลาด

ที่มา  http://www.nanagarden.com

สรรพคุณ

 

สรรพคุณกล้วยหอม

    พูดถึงผลไม้ที่ให้พลังงานสูง ส่วนมากคงจะนึกถึงทุเรียนเป็นอันดับแรก รองลงมากก็คงจะเป็นมังคุด ละมุด ลำไย ขนุน มะม่วง องุ่น แต่รู้หรือไม่ว่ากล้วย ก็เป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่ให้พลังงานสูงไม่แพ้กัน

โดยเฉพาะกล้วยหอมเป็นอีกหนึ่งผลไม้ไทยที่มีผลงานวิจัยแล้วว่า เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารต่าง ๆ มากมาย ที่ร่างกายควรได้รับ และให้พลังงานมากถึง 100 กิโลแคลอรี่ต่อหน่วยเลยทีเดียว

    เนื่องจากว่า ในกล้วยหอมนั้นมีน้ำตาลอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ซุคโคส ฟรักโตส และกลูโคส รวมทั้งเส้นใยอาหาร ดังนั้นร่างกายเราจะได้รับพลังงานและสามารถนำไปใช้ได้ทันที ผลจากการวิจัย แค่กล้วยหอมเพียง 2 ลูก ก็สามารถให้พลังงานกับเราได้มากถึง 90 นาที ด้วยเหตุนี้นักกีฬาโดยเฉพาะนักเทนนิส จึงนิยมนำไปรับประทานระหว่างการแข่งขัน เพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย และสามารถนำไปใช้ได้ทันทีนั่นเอง

นอกจากคุณประโยชน์ในแง่สารอาหารแล้ว กล้วยหอมยังมีสรรพคุณอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก ไปดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
1.ลดอาการซึมเศร้า

    มีการศึกษาทดลองกับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า เมื่อให้รับประทานกล้วยหอมแล้ว ทำให้รู้สึกดีขึ้น ทั้งนี้ในกล้วยหอมมีสาร Tryptophan เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ร่างกายสามารถแปลงเป็น Serotonin สารกระตุ้นที่ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์สดใสและมีความสุข
2.pms. (Premenstrual syndrome)

    เป็นอาการของคุณผู้หญิงในช่วงระหว่างก่อนมีหรือมีประจำเดือน อารมณ์จะหงุดหงิดแปรปรวนง่าย รวมไปถึงอาการปวดหัว ปวดท้อง หากรับประทานกล้วยหอมก็จะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการเหล่านี้ได้
3.โรคโลหิตจาง

    ในกล้วยหอมจะอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง ฮีโมโกลบิน ให้กับเม็ดเลือดแดง จะช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจางได้
4.ช่วยลดความดันโลหิต

    กล้วยหอมมีสารอาหารทั้งวิตามินและเกลือแร่อยู่หลายชนิด เกลือแร่ที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือ โพแทสเซียม จากการวิจัยยืนยันแล้วว่าโพแทสเซียมในผลไม้ สามารถช่วยลดความดันโลหิตให้กับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงได้
5.เพิ่มพลังสมอง

    สารอาหารที่อยู่ในกล้วยหอมสามารถกระตุ้นความตื่นตัวให้กับสมองได้ จากการวิจัยเด็กนักเรียนในประเทศอังกฤษกลุ่มหนึ่งพบว่า การรับประทานกล้วยหอมเป็นอาหารเช้าก่อนเข้าห้องสอบ จะช่วยให้สมองทำงานได้อย่างเต็มที่ และทานอีกในช่วงกลางวัน จะทำให้รู้สึกสดชื่นและตื่นตัวได้

6.ลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมอง

    การรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมจะช่วยลดภาวะจากการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ ดังนั้นกล้วยเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
7.ลดการเกิดก้อนนิ่วในไต

    บางครั้งแคลเซียมจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะเรามาก ทำให้ไตทำงานหนักจะอาจะเกิดเป็นก้อนนิ่วได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมอย่างกล้วยหอมจะช่วยให้ลดการเกิดนิ่วในไตได้

8.ลดการเกิดแผลในกระเพาะและลำไส้

    กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่มีใยอาหารอยู่มาก ใยอาหารเหล่านี้จะไปช่วยให้ลำไส้เล็กย่อยอาหารได้ดีขึ้น รวมถึงยังช่วยเคลือบกระเพาะอาหารให้ลดการระคายเคืองของกรดต่าง ๆ ไม่ให้เกิดแผลในกระเพาะ นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการท้องผูกอีกด้วย
9.ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง

    ในกล้วยหอมจะมีสารลดกรดธรรมชาติ การรับประทานกล้วยหอมจึงสามารถแก้อาการดังกล่าวได้
10.กล้ามเนื้อเป็นตะคริว

    คนที่กล้ามเนื้อเป็นตะคริวนั้นส่วนหนึ่งมาจากการขาดโพแทสเซียม หรือมีโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ การทานกล้วยหอมเป็นประจำจะช่วยลดอาการดังกล่าวได้
11.ระบบประสาท

    ในกล้วยหอมนอกจากอุดมไปด้วยโพแทสเซียมแล้วยังมีวิตามินบีอยู่อีกมาก วิตามินบีจะช่วยเรื่องระบบประสาทในร่างกาย และการทำงานของสมองให้สมดุล

ที่มา http://www.never-age.com/lifestyle/lifestyle.php?lid=56